แชร์ประสบการณ์ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้แล็ปท็อปเป็น Chromebook



        สวัสดีครับ บทความนี้เดิมทีตั้งใจเขียนเพื่อนำเสนอ Chromebook ซึ่งเป็นแล็ปท็อปราคาย่อมเยา มุ่งเน้นในการใช้งานเพื่อการเรียนการศึกษา โดยใช้ระบบปฏิบัติการ Chrome OS จาก Google นั่นเอง แต่ปัจจุบัน Chromebook นั้นก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้ว เพียงแต่ว่ายังมีคนจำนวนน้อยที่นำ Chromebook มาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับบทความนี้กระผมจึงขอนำเสนอประสบการณ์การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้แล็ปท็อปในระบบปฏิบัติการทั่วไปมาเป็น Chromebook แทนครับ


         ปัจจุบันผมใช้ “Ture IDC Chromebook 11” (ตอนนี้ลดราคาอยู่ที่ 4,200 บาท) ข้อดีที่ค้นพบด้วยตัวเองเลย คือ ขนาดบางเบากระทัดรัด สะดวกพกพาง่าย การเปิดปิดเครื่องรวดเร็ว (ไม่มีการดาวโหลดเพื่ออัพเกรดระบบปฏิบัติการระหว่างปิด/เปิดเครื่องให้เสียอารมณ์แน่นอน)
         แรกๆ ก็ปรับตัวพอสมควรครับ เพราะเรายังไม่คุ้นเคยกับหน้าการใช้งาน รวมถึงคำสั่งต่างๆ แต่พอเราได้ใช้ทุกวัน ลองเล่นปรับการตั้งค่าต่างๆ ก็ค้นพบว่ามันใช้งานไม่ยากเลยครับ พูดง่ายๆ คือมันก็เหมือนเราใช้เว็บบราว์เซอร์ Chrome ที่หลายคนใช้อยู่ทุกวันนี่แหล่ะครับ เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จากระบบปฏิบัติการเดิมที่คุ้นเคย มาเป็นระบบปฏิบัติการ Chrome OS
        การพิมพ์งานเอกสารต่างๆ ก็ปรับมาใช้ของ G Suite (หรือเมื่อก่อนเรียกว่า Google Apps) ไม่ว่าจะเป็น Google Docs, Slides และ Sheets แต่นับว่ายังดีที่หน้าตาการใช้งานมีความคล้ายคลึงกับระบบที่เคยใช้มาก จึงไม่ยากแก่การเข้าใจและการใช้งาน แต่มีปัญหาเพียงอย่างเดียวคือ ระบบไม่สนับสนุนฟอนต์ TH Sarabun PSK เมื่อเปิดไฟล์ที่เคยเซฟไว้ก็จะพบปัญหารูปแบบฟอนต์ที่เปลี่ยนไป (lack of fonts) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังพอมีวิธีในการเพิ่มฟอนต์ TH Sarabun PSK อยู่บ้าง เพียงแต่ขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน (สามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่อง “รู้หรือยัง Chromebook ลงฟอนต์ไทยสารบรรณ (TH SarabunPSK) ได้แล้ว”) สำหรับการพิมพ์เอกสารภาษาอังกฤษนั้นไม่มีปัญหาเลยครับ มากไปกว่านั้นคือมีฟอนต์ให้เลือกใช้มากมาย และไม่มีปัญหาเรื่อง lack of fonts ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องอื่นก็ตาม อย่างแน่นอนครับ และที่มากไปกว่านั้น ถือว่าเป็นจุดเด่นของ G Suite เลยก็ว่าได้ นั่นคือการเปิดการทำงานแบบร่วมกัน (collaboration) ซึ่งทั้งตัวผมในฐานะผู้สอน และนักเรียนของผม ต่างก็ชื่นชอบการทำงานระบบนี้มากๆ
ครับ
        เพิ่มเติม สำหรับการสลับภาษาไทย - อังกฤษในการพิมพ์ แรกๆ ก็ไม่คล่องเหมือนกันครับ เพราะเคยใช้ตัวหนอก ( ~ ) แต่ Chromebook ให้ใช้ Ctrl + Space ในการสลับระหว่างภาษา แต่พอใช้ไปซักระยะก็เกิดความเคยชิน เดี๋ยวนี้ก็คล่องแล้วครับ
        ปัจจุบันผมใช้ Chromebook เพื่อการเรียนการสอน ข้อดีที่สำคัญที่สุดคือ ผมไม่ต้องพก USB flash drive อีกต่อไป และแน่นอนครับว่าผมไม่ต้องห่วงเรื่องไวรัสที่จะติดมากับ flash dirve เวลาที่ไปเสียบเครื่องอื่นมา เพราะทุกงานเอกสาร และ สไลด์ในการนำเสนอ จะเก็บไว้ใน cloud ซึ่งสามารถเรียกใช้งานได้ทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต ระหว่างการทำงาน ระบบ Chromebook จะทำการเซฟอัตโนมัติตลอดเวลาที่ทำงาน พิมพ์ใน Chromebook ปุ๊ป ไปเปิดอีกเครื่องก็จะเป็นแบบที่เราพิมพ์ล่าสุดปั๊ปเลยครับ ขอเพียงอย่างเดียวคือต้องมีอินเตอร์เน็ต (แต่ถ้าไม่มี ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยการทำให้โทรศัพท์มือถือของเราให้เป็น mobile hotspot เพื่อแชร์ไวไฟได้ครับ)


        ในเรื่องของการดูหนังฟังเพลง ระบบเสียงของ Chromebook นั้นถือว่าใช้ได้เลยครับ เครื่องเล็ก แต่เสียงดังดีเหมาะสำหรับกลุ่มเล็ก ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ก็ซื้อสาย AUX มาเชื่อมต่อกับลำโพงก็กระหื่มแล้วครับ ระบบภาพคมชัดดครับ ไม่ถึงขั้นดีมาก เพราะด้วยเสป็คที่จำกัด แต่โดยรวมแล้วเรื่องการดูหนังฟังเพลงก็ถือว่าใช้ได้ดีเลยทีเดียว

        และนี่ก็เป็นประสบการณ์การใช้งาน Chromebook ของผมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากท่านที่สนใจการก็ลองใช้งานผ่าน G Suite ในเครื่องของท่านก่อนครับ พอเมื่อได้ใช้ Chromebook จะทำให้เข้าใจเร็วขึ้นมากเลยครับ หากมีข้อสงสัยในเรื่องใดๆ ก็สามารถซักถามได้ครับ ยินดีให้คำปรึกษาครับผม

ครูโจโจ้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences

Special Days in Thailand : วันหยุดของไทย ภาษาอังกฤษ